Dragon Quest V ฟ้องทีมงาน Dragon Quest Your Story เอาตัวละครของเธอไปใช้โดยไม่ขอ
ผู้แต่งฉบับนิยาย อาศัยเปิดดูฉบับนิยายของภาพยนตร์ ในการหาว่าตัวละครถูกนำไปใช้ที่ไหนบ้าง ก่อนจะมาร้องเรียนเมื่อวันศุกร์ อ. Kumi Saori ผู้แต่งนิยาย Dragon Quest V ได้เล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการที่เธอได้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนทางอาญาต่อทางคณะกรรมการผู้ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชัน 3D เรื่องแรกของแฟรนไชส์นี้ คือ Dragon Quest Your Story ที่สำนักงานอัยการเขตโตเกียว และกรมตำรวจโตเกียว เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมาไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม วันที่ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกฉายในญี่ปุ่น เธอก็ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลแขวงนากาโนะ ซึ่งในครั้งของวันที่ 5 ธันวาคมนี้ เธอได้ร้องเรียนเป็นคดีอาญาต่อคณะกรรมการผู้ผลิตภาพยนตร์และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
ในส่วนของข้อกล่าวหา เธออ้างว่าคณะกรรมการผู้ผลิตภาพยนตร์นำเอาผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของเธอไปใช้งาน ทำซ้ำ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา และ พ.ร.บ. ป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนั้นเธอยังกล่าวหาว่าคณะกรรมการผู้ผลิตฯ ได้ประพฤติทุจริต เป็นพฤติกรรมฉ้อฉล ทำลายความไว้วางใจในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะจุดที่เธอกล่าวว่าโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้นำเอาตัวละครเอก Ryuka และตัวละครบางส่วนในฉบับนิยายมาใช้โดยไม่ได้ขออนุญาตจากเธอ ดังเห็นได้จากในฉบับภาพยนตร์ที่ตัวเอกใช้ชื่อเดียวกัน แม้ในฉบับเกม Dragon Quest V ตัวละครผู้เล่นจะถูกแทนชื่อด้วยคำว่า “ผู้กล้า” หรือให้ผู้เล่นสามารถตั้งชื่อตัวละครของตัวเองได้เนื่องจากตัวภาพยนตร์ยังไม่ได้ถูกนำผลิตในรูปแบบโฮมวิดีโอ อ. Kumi จึงอาศัยฉบับนิยายของภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้ (ที่แต่งโดย อ. Miyamoto Mirei ซึ่งได้วางจำหน่ายไปก่อนหน้า แยกออกมาจากฉบับของเธอเองที่วางจำหน่ายเมื่อปี 1993) ในการค้นหาว่ามีตัวละครใดของเธอปรากฏตัวอยู่ในภาพยนตร์บ้าง ซึ่งเธอได้อ้างว่ามีการใช้ตัวละคร “Ryuka” ของเธอกว่า 487 ครั้ง และอีก 53 ครั้งที่ “ค่อนข้างเป็นไปได้ว่า” ตัวละครนี้จะถูกกล่าวถึงภายในบทพูด ซึ่งรวมไปถึงสื่อโฆษณาภาพยนตร์ที่มีชื่อของตัวละครเอกนี้ปรากฎอยู่ด้วย
อ. Kumi กล่าวว่ามีอย่างน้อย 4 คนที่เธอรู้จัก เข้าใจผิดว่าฉบับนิยายของเธอถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เพราะทางผู้สร้างภาพยนตร์ดันใช้ชื่อตัวละครเอกว่า “Ryuka” เหมือนกัน และยังมีแฟน ๆ อีกหลายคนที่สับสน ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ละเมิด Act Against Unjustifiable Premiums and Misleading Representations ของญี่ปุ่น (ออกแนวกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้มีการอวดอ้างสรรพคุณสินค้าเกินจริง จนทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิด)นอกจากนี้ อ. Kumi ยังชี้แจงว่าเธอเชื่อว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่กรณีของความผิดพลาดทางการสื่อสาร แต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาของคณะกรรมการผู้ผลิตฯ ที่จะใช้ตัวละครของเธอโดยไม่มีการขออนุญาต เพื่อดึงดูดให้ผู้ชมหันมาสนใจ และเธอยังเชื่อว่าคณะกรรมการฯ นั้นไม่ได้มองเธอในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงาน แถมยังสร้างความเข้าใจผิดให้กับแฟน ๆ ซึ่งการเพิกเฉยต่อการนำเอาผลงานของเธอไปใช้แบบนี้ จะส่งผลเสียขึ้นอีกในอนาคต